บทความ

การจัดเตรียมบัฟเฟอร์ – โซลูชัน ในห้องปฏิบัติการเคมีและชีวเคมี

การจัดเตรียมบัฟเฟอร์เป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นบ่อยในห้องปฏิบัติการเคมีและชีวเคมี สารละลายบัฟเฟอร์เป็นสารผสมระหว่างกรดอ่อนกับคู่เบส หรือเบสอ่อนกับคู่กรด สารละลายบัฟเฟอร์มักนำมาใช้ในการควบคุมค่า pH ของสารละลายที่ผสมกับบัฟเฟอร์ให้คงที่ โดยบัฟเฟอร์จะต้านทานการเปลี่ยนแปลงค่า pH ของสารละลายทั้งหมดเมื่อความเป็นกรดหรือด่างในสารละลายเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเนื่องมาจากการเติมสารละลายอื่นหรือเกิดปฏิกิริยาเคมีใดๆ ภายในสารละลายดังกล่าว บัฟเฟอร์จึงเป็นสารละลายสารพัดประโยชน์ในการใช้งานต่างๆ ที่จำเป็นต้องมีค่า pH ที่ค่อนข้างคงที่ ซึ่งบัฟเฟอร์อาจเรียกอีกอย่างว่าบัฟเฟอร์ pH, บัฟเฟอร์ไฮโดรเจนไอออน หรือสารละลายบัฟเฟอร์

ตัวอย่างเช่น เลือดมีบัฟเฟอร์ในธรรมชาติเพื่อควบคุมค่า pH ให้อยู่ระหว่าง 7.35 ถึง 7.45 เสมอ เพื่อให้เอนไซม์ของเราทำงานได้เป็นปกติ การทำงานของเอนไซม์จะเปลี่ยนแปลงไปตามค่า pH ด้วยเหตุนี้ การควบคุมค่า pH ให้คงที่จึงเป็นสิ่งสำคัญในการวิเคราะห์ทางชีวเคมีเพื่อให้ระดับการทำงานที่สังเกตนั้นถูกต้อง ในการใช้งานเชิงพาณิชย์ เราจะพบบัฟเฟอร์ในยาสระผมเพื่อป้องกันการระคายเคืองต่อผิวหนัง พบในโลชันทาผิวเด็กเพื่อยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรีย และพบในน้ำยาล้างคอนแทกเลนส์เพื่อควบคุมค่า pH ของน้ำยาให้ตรงกับช่วงค่า pH ของดวงตา

การจัดเตรียมบัฟเฟอร์นั้นมีหลายขั้นตอน ซึ่งประกอบด้วยการชั่งน้ำหนักสารประกอบ การละลายสารประกอบ การปรับค่า pH และการเติมสารให้ได้ปริมาณสุดท้ายที่ต้องการ เนื่องจากสัดส่วนของกรดต่อเบสในบัฟเฟอร์นั้นแปรผันตามค่า pH สุดท้ายโดยตรง การชั่งน้ำหนักสารประกอบด้วยระดับของความเที่ยงตรงแม่นยำสูงจึงเป็นสิ่งสำคัญมาก ด้วยเหตุนี้ อุปกรณ์ที่ใช้ (เครื่องชั่ง ปิเปต และมิเตอร์วัดค่า pH) จึงจำเป็นต้องได้รับการสอบเทียบอย่างถูกต้องและมีความแม่นยำเพียงพอ

แชร์โพสต์ :